Email Support

sukyai21@gmail.com

02-1620-750

@bkkgabion @Thailandgabion

โทร: 061-456-1644
        099-359-1419

Geotextile คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง

ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ geotextile มากถึง 1.4 พันล้านตารางเมตรต่อปี และแนวโน้มก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขสถิตินี้ geotextile จึงถือว่าเป็นวัสดุที่มีความสำคัญต่อวงการก่อสร้าง และวงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับคุณผู้อ่านที่ยังไม่รู้ว่า geotextile คืออะไร และสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง ทางแมทติพลายก็ขออาสาเป็นคนอธิบาย ให้คุณผู้อ่านสามารถเข้าใจได้แบบง่ายๆ

Geotextile คืออะไร

Geotextile คือแผ่นใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติน้ำซึมผ่านได้ และมีความทนทานสูง มักใช้ในงานด้านโยธา สิ่งแวดล้อม และการเกษตร

วัสดุที่ใช้ทำ geotextile มักจะเป็น polypropylene (PP) หรือ polyester (PET) แต่บางครั้งก็อาจมีการใช้วัสดุอื่นแทน เช่น polyethylene และ polyamides

หน้าที่ของ Geotextile มีหน้าที่สำคัญดังนี้

  1. การกรอง (filtration)

ด้วยคุณสมบัติที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ geotextile จึงถูกใช้ในการกรอง เช่น การกรองดินไม่ให้ผ่านไปยังบริเวณอื่น ในขณะที่น้ำและความชื้นยังสามารถผ่านได้

  1. การแยกชั้น (separation)

Geotextile มักถูกใช้ในการแยกชั้นระหว่าง 2 สิ่ง เช่น ชั้นหินและชั้นดิน หรือชั้นดินที่มีลักษณะต่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมปะปนกันระหว่างชั้น

  1. การระบาย (drainage)

Geotextile ยังถูกใช้ในการระบายน้ำหรือแก๊ส โดยมักถูกใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น เช่น แกนระบายน้ำ (drainage core) และท่อเจาะรู (perforated pipe)

  1. การเสริมความแข็งแรง (reinforcement)

หน้าที่อีกอย่างของ geotextile ก็คือการเสริมความแข็งแรงให้กับสิ่งอื่น เช่น ชั้นดิน ด้วยการเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนัก หรือช่วยดูดซับแรงเสียดทานในจุดที่เกิดการเสียดสี หน้าที่ข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับงานก่อสร้างถนน

  1. การปกป้อง (protection)

Geotextile ยังถูกใช้ในการปกป้องวัสดุอื่น เช่น geomembrane และแผ่นคอนกรีต ซึ่งหน้าที่ข้อนี้ของ geotextile มักถูกนำไปใช้ในงานด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และงานสร้างอุโมงค์

Geotextile มีกี่ชนิด เมื่อแบ่งตามกระบวนการผลิต geotextile จะแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ

  1. Non-woven geotextile (แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดไม่ถักทอ)

Non-woven geotextile คือแผ่นใยสังเคราะห์ที่ผลิตโดยไม่ผ่านกระบวนการถักทอ แต่ใช้กระบวนการเชิงกล กระบวนการความร้อน กระบวนการเคมี หรือการผสมผสานระหว่างกระบวนการเหล่านี้แทน

เนื่องจากไม่ได้ผ่านกระบวนการถักทอ เส้นใยของ non-woven geotextile จึงมีการเรียงตัวแบบอิสระ ซึ่งส่งผลให้ geotextile ชนิดนี้มีคุณสมบัติการกรอง การระบาย และการปกป้องวัตถุอื่นที่ดีกว่า woven geotextile

เมื่อเทียบกับ geotextile ชนิดอื่น non-woven geotextile จะถือเป็น geotextile ชนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุด

  1. Woven geotextile (แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดถักทอ)

(คำว่า woven geotextile ถ้าแปลตรงตัวจะแปลว่า “แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดทอ” แต่ส่วนใหญ่จะนิยมเรียกกันว่า “แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดถักทอ” มากกว่า)

Woven geotextile คือแผ่นใยสังเคราะห์ที่ผลิตด้วยกระบวนการทอ ลักษณะของเส้นใยที่ได้จึงมีการเรียงตัวเป็นระเบียบ และมีโครงสร้างที่แน่น

Geotextile ชนิดนี้จะมีความแข็งแรงสูง เหมาะสำหรับใช้เสริมความแข็งแรงให้กับสิ่งต่างๆ เช่น ใช้เสริมความแข็งแรงให้กับชั้นดิน โดยจะใช้ได้ทั้งในงานสร้างถนน งานสร้างเขื่อน และงานก่อสร้างอื่นๆ

  1. Knitted geotextile (แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดถัก)

Knitted geotextile คือแผ่นใยสังเคราะห์ที่ผลิตด้วยกระบวนการถัก ซึ่งส่งผลให้เนื้อของ geotextile ชนิดนี้มีรูพรุนขนาดใหญ่ และใช้ในการกรองได้ดีกว่า geotextile ชนิดอื่นๆ

ความต่างของ geotextile ชนิดถัก (knitted) และชนิดทอ (woven) ก็คือชนิดถักจะใช้เส้นใยแค่แนวเดียว ถักเป็นบ่วงเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ ส่วนชนิดทอจะใช้เส้นใย 2 แนว คือแนวตั้งและแนวนอน ทอให้ขัดสลับกันไป

เมื่อเทียบกันแล้ว knitted geotextile นั้นไม่เป็นที่นิยมในการใช้เท่า geotextile ชนิด woven และ non-woven

  1. Composite geotextile (แผ่นใยสังเคราะห์ชนิดผสม)

Composite geotextile คือแผ่นใยสังเคราะห์ที่ประกอบรวมกันหลายชั้น โดยแต่ละชั้นอาจเป็น geotextile ชนิดเดียวกันหรือไม่ก็ได้ (non-woven, woven, knitted) หรือในบางกรณี บางชั้นก็อาจเป็นวัสดุ geosynthetic ชนิดอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

Geotextile ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติและการใช้ที่ค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบและกระบวนการผลิตที่ใช้

เมื่อเทียบกันแล้ว composite geotextile นั้นไม่เป็นที่นิยมในการใช้เท่า geotextile ชนิด woven และ non-woven

Geotextile มักถูกใช้ในงานด้านโยธา สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ตัวอย่างเช่น

ด้านโยธาและสิ่งแวดล้อม

  • ใช้แยกชั้นหรือเสริมความแข็งแรงของดินในงานก่อสร้างถนน
  • ใช้แยกชั้นหรือเสริมความแข็งแรงของวัสดุอื่นในงานทำรางรถไฟ
  • ใช้แยกชั้นหรือเสริมความแข็งแรงของดินในงานสร้างเขื่อน
  • ใช้เสริมความแข็งแรงให้กับกำแพง สันหาด และพื้นที่ลาดชัน
  • ใช้ในระบบระบายน้ำใต้ดิน หรือระบบระบายน้ำอื่นๆ
  • ใช้ป้องกันการกร่อนของหน้าดินหรือพื้นผิวอื่นๆ

ด้านการเกษตร

  • ใช้คลุมดินเพื่อป้องกันการเติบโตของวัชพืช
  • ใช้เพื่อสร้างร่มเงา ป้องกันลม หรือป้องกันแมลง ให้กับเรือนกระจกหรือพื้นที่เพาะปลูกอื่น
  • ใช้ป้องกันพืชผลบางชนิดจากนก แมลง และสภาวะอากาศต่างๆ

บางกอกเกเบี้ยน